Column banner

สรุปผลการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ ส่วนที่ ๑

 

           เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ เวลา ๐๗.๕๘ นาฬิกา เกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราในสาธารณรัฐอินโดนีเซียระดับความรุนแรง ๙ ริกเตอร์ และเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกา ก็เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งประเทศต่าง ๆ แถบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้ง ๖ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล         
        
      นับตั้งแต่วันเกิดธรณีพิบัติภัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงอำนวยการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยด้วยพระองค์เอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สภากาชาดไทยดำเนินการช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วน ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้คลี่คลายบ้างแล้ว ทรงพระราชดำริที่จะฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับมาดำรงชีวิตดังเดิม มีอาชีพ มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย เด็กนักเรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ รับสนองพระราชดำริในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นสึนามิในพื้นที่ ๖ จังหวัดภาคใต้ 


                     การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติโดยหน่วยเฉพาะกิจสิรินธร

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจสิรินธร ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๘ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิในพื้นที่ ๖ จังหวัดภาคใต้ ตามพระราชดำริที่ว่า "จงช่วยเหลือชาวบ้านให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข และสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ดังเดิม"โดยได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ ดังนี้           
        
     บ้านเรือนที่พักอาศัย จัดหาเต๊นท์ บ้านพักชั่วคราว และบ้านพักถาวรให้แก่ผู้ประสบภัยในบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือและขาดแคลนทุนทรัพย์ในการสร้างบ้าน
     อาชีพ สำหรับอาชีพประมง มอบเรือหัวธงพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ประมง เช่น กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ อวน ลอบ เป็นต้น ส่วนอาชีพอื่น ๆ มอบเครื่องมือประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ทำกิจกรรมด้านการเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ การทำสวน หรือฝึกอาชีพเพื่อประกอบอาชีพอิสระ เช่น  ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างเครื่อง ช่างก่อสร้าง ช่างต่อเรือ การค้าขาย หรืองานหัตถกรรม
     เครื่องอุปโภคบริโภค จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องครัวให้แก่พื้นที่ประสบภัย และได้ช่วยเหลือจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ระบบสหกรณ์  เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้เรียนรู้ระบบการเบิก-จ่ายวัสดุ ควบคุมปริมาณการบริโภค อาหาร ของใช้ประจำวัน และรู้จักการใช้ชีวิตแบบพอเพียง
     การศึกษา จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์การศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้ประสบภัย 
     สาธารณูปโภค จัดหาน้ำดื่มบริสุทธิ์บรรจุขวด จัดรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำสะอาดไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย จัดหาเครื่องปั่นไฟส่วนกลาง ติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ จัดหาอุปกรณ์เก็บกักน้ำฝน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้า และสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลที่สะอาด
     สาธารณประโยชน์ ภัยพิบัติทำให้สถานที่สำคัญซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ได้แก่ วัด มัสยิด เกิดความเสียหาย หน่วยเฉพาะกิจสิรินธรจึงช่วยเหลือซ่อมแซม ก่อสร้าง ต่อเติม ให้สถานที่เหล่านี้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือดีกว่าเดิม เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแก่ผู้ประสบภัย
     พลานามัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยประสานให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกวิธีกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ผู้ป่วยที่พิการ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยมีแผลติดเชื้อ เป็นต้น ส่งเสริมสุขภาพพลานามัยให้ราษฎรสนใจกีฬาต่าง ๆ เช่น จัดตั้งทีมฟุตบอลทั้งสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดและพักผ่อนหย่อนใจ 
      
                                  การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยมูลนิธิชัยพัฒนา 

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการช่วยเหลือมาโดยตลอดหลังจากเกิดธรณีพิบัติภัย ได้มีพระราชกระแสในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่มูลนิธิชัยพัฒนามีอยู่จำนวนกว่า ๒๐ ล้านบาท มอบให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าในเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารการกิน น้ำดื่ม เสื้อผ้า ยาแก้ไข้ และยาอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าในระยะหนึ่งก่อน
      ขณะเดียวกัน ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสนับสนุนโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนาทรงกำกับและดูแลโครงการฟื้นฟู พัฒนา และช่วยเหลือราษฎรด้วยพระองค์เอง เน้นการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ยังเข้าไปไม่ถึง หรือเข้าไปเสริม หรือเข้าร่วมกับบางองค์กรในกิจกรรมที่มูลนิธิชัยพัฒนามีขีดความสามารถที่จะดำเนินการให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประสบภัยได้ และได้มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา สภากาชาดไทย และกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรร่วมกันตามภารกิจที่แต่ละหน่วยงานมีความชำนาญ
       จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเสียหายของพื้นที่โดยมูลนิธิชัยพัฒนา พบว่า สิ่งที่เหมือนกันทั้ง ๖ จังหวัด คือ ชาวประมงสูญเสียบ้านเรือน เรือประมงขนาดเล็ก กระชัง และอุปกรณ์ประมง แม้ว่าบางรายสามารถกู้เรือ กู้กระชังมาได้ แต่ไม่สามารถออกทะเลจับปลาได้
      มูลนิธิชัยพัฒนาจึงดำเนินการแก้ปัญหาโดยการปรับปรุง ฟื้นฟู พัฒนาพื้นที่ตามแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริ โดยยึดหลักความเหมาะสมของภูมิสังคม และความต้องการของราษฎรเป็นสำคัญรวมทั้งวางแนวทางให้ราษฎรมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน


     ๑. การแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำเบื้องต้น โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)สนับสนุนถังน้ำไฟเบอร์กลาสขนาด ๒,๐๐๐ ลิตร จำนวน ๕๐๐ ถัง สำหรับในบางพื้นที่ เช่น เกาะมุกด์ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่น้ำบ่อกลายเป็นน้ำเค็ม และแหล่งน้ำจืดที่มีเป็นขนาดเล็กไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นน้ำดื่ม ได้สนับสนุนให้ขุดเจาะและจัดทำบ่อน้ำบาดาล รวมทั้งการจัดทำระบบประปาหมู่บ้าน โดยศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล เขต ๕ และสำนักงานจังหวัดตรังร่วมให้ความช่วยเหลือ


     ๒. การช่วยเหลือด้านการประมง สำหรับปัญหาเครื่องมือประมง ได้สนับสนุนเครื่องมือประมงในลักษณะกลุ่มอาชีพ โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)ให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่กลุ่มในด้านการบริหารจัดการกองทุน เน้นการลดหนี้สินและให้รู้จักการออมทรัพย์ โดยให้กลุ่มร่วมพิจารณาคัดเลือกให้ทุนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมากที่สุดก่อน
    ส่วนที่จังหวัดระนอง การทำประมงชายฝั่งของชาวประมงบ้านหาดทรายดำ ตำบลหงาว อำเภอเมือง ประสบปัญหาเรือประมงอวนลากขนาดใหญ่ลักลอบเข้ามาจับปลาบริเวณชายฝั่ง มูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบหมายให้กรมประมงพิจารณาการจัดวางแนวปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลต่างๆ และป้องกันเรืออวนลากอีกทางหนึ่งด้วย
    นอกจากนี้ ชาวประมงตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ขอรับความช่วยเหลือในการติดตั้งสัญญานไฟร่องน้ำเดินเรือ เพื่อกำหนดทิศทางให้สามารถเดินทางกลับเข้าฝั่งในช่วงมรสุมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการติดตั้งสัญญานไฟร่องน้ำเดินเรือ จำนวน ๒ จุด จากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเรียบร้อยแล้ว


     ๓. การช่วยเหลือด้านการเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เช่น เกาะสุกร จังหวัดตรัง บ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล มูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบหมายให้นายพิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (ด้านดิน)ของมูลนิธิฯ ตรวจสอบความเสียหายและหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงดินให้กลับมาปลูกพืชได้เช่นเดิม และสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มปุ๋ยยางพารา ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง
    ในพื้นที่จังหวัดระนอง ได้ส่งเสริมการปลูกผักพื้นบ้าน แจกจ่ายกล้าไม้ต่างๆ เช่น กล้าพันธุ์กล้วยหอม กล้าพันธุ์ผักเหลียง กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม และกล้าพันธุ์ลองกอง รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงโค โดยการจัดตั้งกลุ่มธนาคารโคขึ้นในชุมชน ซึ่งกรมปศุสัตว์สนับสนุนโค ๒๐ ตัว ให้ราษฎรนำไปเลี้ยง นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการแปรรูปอาหารจากผลิตภัณฑ์ประมง สอนการทำหัตถกรรมจากวัสดุในท้องถิ่นให้แก่แม่บ้าน กลุ่มวัยรุ่น และผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เพื่อจะได้มีอาชีพเสริมทำอยู่ที่บ้านไปพร้อมๆ กับการดูแลลูกหลานที่บ้าน เช่น ทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม


     ๔. การพัฒนาที่อยู่อาศัย  การตรวจสอบความเสียหายที่ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้พบว่าราษฎรบ้านทุ่งนางดำ ๒๓ ครัวเรือน และราษฎรเกาะพระทอง ๑๑๒ ครัวเรือน ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวรและไม่ต้องการที่จะอยู่อาศัยในที่เดิมอีกต่อไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาจัดซื้อที่ดิน พร้อมทั้งสร้างบ้านพักถาวร ๒๓ หลัง ให้แก่ราษฎรบ้านทุ่งนางดำ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ซื้อที่ดิน ๕ ไร่ ที่บ้านเตรียม ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จัดตั้งเป็น “หมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย-ศุภนิมิต (บ้านบางหว้า)”ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณในการสร้างบ้านพัก กลุ่มนายช่างชาวภูเก็ตเป็นผู้ออกแบบบ้าน จัดทำแผนผังที่อยู่อาศัยและก่อสร้างบ้าน และโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะ
              สำหรับราษฎรเกาะพระทอง ๑๑๒ ครัวเรือน มูลนิธิชัยพัฒนาได้พิจารณาแก้ไขปัญหาตามพระราชกระแสร่วมกับสภากาชาดไทยและกรมป่าไม้ จัดหาพื้นที่บริเวณบ้านทุ่งรัก ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี ประมาณ ๓๐๐ ไร่ จัดทำเป็น “หมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก)” จำนวน ๑๗๐ หลัง โดยนำแนวพระราชดำริคนอยู่ร่วมกับป่ามาบริหารจัดการพื้นที่ป่าแห่งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพประมงเป็นหลัก พร้อมทั้งจัดหาอาชีพเสริมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิม ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า พื้นที่แห่งนี้ประกอบด้วย บ้านพัก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน สถานีอนามัย โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และท่าเทียบเรือ หมู่บ้านใหม่นี้ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท เดสก์ทอป จำกัด ในการจัดทำแผนผังหมู่บ้าน และกรมการทหารช่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศอาสาช่วยงาน ซึ่งในขณะนี้การสร้างบ้านดำเนินการแล้วเสร็จ และราษฎรได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเป็นการถาวรแล้ว  


     ๕. การสนับสนุนเรือประมง “ชัยพัฒนา-กาชาดไทย” โดยใช้ไฟเบอร์กลาสแทนไม้ แนวคิดใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนาในการจัดหาเรือประมงขนาดเล็กให้พอแก่ความต้องการของชาวประมง ซึ่งได้รับแจ้งว่าเรือเสียหายกว่า ๓,๐๐๐ ลำ คือ การสนับสนุนให้ใช้ไฟเบอร์กลาสสร้างเรือใหม่ทดแทนการใช้ไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่วิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยาคิดประดิษฐ์และพัฒนาจากต้นแบบเรือประมงพื้นบ้าน เรือไฟเบอร์กลาสนี้ มีความแข็งแรง อายุการใช้งานนาน ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือมาก มูลนิธิชัยพัฒนา สภากาชาดไทย กรมประมง กรมอู่ทหารเรือ และวิทยาลัยเทคนิคฯ จึงได้ร่วมมือกันต่อเรือประมงขนาดเล็ก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เรือหัวโทง ความยาว ๑๐ เมตร และ ๑๑ เมตร จำนวน ๕๐๐ ลำ แจกจ่ายให้ชาวประมงทั้ง ๖ จังหวัด
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรและทรงทดลองประทับเรือประมงไฟเบอร์กลาสตามที่กรมอู่ทหารเรือและวิทยาลัยเทคนิคฯ ต่อขึ้นมาเป็นเรือต้นแบบ “ชัยพัฒนา-กาชาดไทย” ทรงพอพระทัยเรือต้นแบบและการดำเนินงานที่เป็นไปด้วยดี มีพระราชกระแสให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาพิจารณาการเปิดสอนวิชาการต่อเรือไฟเบอร์กลาสในวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ยฝั่งทะเลอันดามัน
เพื่อจะได้มีผู้ชำนาญการเฉพาะด้านที่สามารถรองรับความต้องการเรือไฟเบอร์กลาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านการต่อเรือ ดูแลรักษา และซ่อมแซมเรือ
    ในอนาคตอันใกล้นี้ ชาวประมงไทยจะได้ปรับเปลี่ยนหันมาใช้เรือไฟเบอร์กลาสออกทะเลจับปลาแทนเรือไม้ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ซ่อมแซม และยังช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย


     ๖. การพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ ฯ ไปทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลคุระบุรี จังหวัดพังงา และมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาปรับปรุงและพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ เพราะมีสภาพเก่าและชำรุดทรุดโทรมให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีมาตรฐาน โดยให้กรมการทหารช่างเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซม รวมทั้งจัดทำระบบสาธารณูปโภค จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งคาดว่าการซ่อมแซมและการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ นี้


     ๗. การสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนบนเกาะ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำโครงการสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพราะวิถีชีวิตของราษฎรเกาะหลีเป๊ะขึ้นอยู่กับการประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยว ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษจะช่วยให้นักเรียนสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และมีความรู้รอบตัวที่กว้างไกลขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต การทำอาชีพประมง การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขอนามัยทั่วไป โดยการจัดหาอาสาสมัครชาวต่างชาติมาเป็นครูสอนในเกาะ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยพายัพ


         การดำเนินงานดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ได้ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมีกำลังใจและกำลังทรัพย์จากประชาชนชาวไทย และองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้การช่วยเหลือประชาชนกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และงานที่ดำเนินการนั้น ก็ได้ระมัดระวังโดยมิให้ซ้ำซ้อนกับงานของหน่วยงานอื่น หากแต่เข้าเสริมในส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์และรวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น